TopAdsense

การปลูกชะอม


     ชะอมเป็นผักพื้นบ้านที่นิยมบริโภคกันแพร่หลาย จัดเป็นไม้ที่ทนแล้งได้ดี เจริญเติบโตง่าย และในสภาพที่มีการรดน้ำสามารถให้ผลผลิตตลอดทั้งปี การขยายพันธุ์ชะอมนิยมใช้การปักชำกิ่งและการตอนกิ่งยอดอ่อนและใบอ่อนนำมารับประทานเป็นผักจิ้มด้วยการลวกหรือนึ่งให้สุก ชุบกับไข่แล้วทอดรับประทานกับน้ำพริก เป็นต้น


      ชะอมจัดเป็นผักที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะให้พลังงานแก่ร่างกายและมีวิตามินต่างๆมากมาย นอกจากนั้นส่วนรากยังมีประโยชน์ทางยา คือมีสรรพคุณแก้ท้องเฟ้อ ขับลมในลำไส้ และแก้ปวดเสียดในท้องได้ดี การปลูกชะอมเป็นการค้า เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ควรมีการจัดการและดูแลรักษาอย่างเหมาะสม เช่น มีการตัดแต่งกิ่งไม่ให้พุ่มต้นสูงเกินไป รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแตกตาด้านข้างเพื่อพัฒนาเป็นยอดอ่อน ในหลายพื้นที่มีการปลูกชะอมเป็นการค้าซึ่งสามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี และความต้องการของตลาดยังมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ จึงจัดเป็นผักพื้นบ้านที่มีศักยภาพในการส่งเสริมให้มีการปลูกเป็นการค้าเพื่อเสริมเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

     ช ะ อ ม (Acacia pennata (L). Wild. subsp.insuavis Nielsen)
เป็นไม้พุ่มขนาดย่อม ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม ใบเป็นใบประกอบขนาดเล็กลักษณะคล้ายใบกระถินหรือใบส้มป่อย ใบอ่อนมีกลิ่นฉุนคล้ายกลิ่นสะตอ ใบย่อยรูปรี มีประมาณ 13-28 คู่ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ดอกมีขนาดเล็ก ออกตามซอกใบ ดอกมีสีขาวหรือขาวนวล เกสรเพศผู้เป็นเส้นฝอยเห็นได้ชัดเจน ผลเป็นฝักมีขนาดเล็กกว่าฝักกระถิน(กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543; สถาบันแพทย์แผนไทย, 2542)

การปลูกและการดูแลรักษา

     การปลูกชะอมสามารถทำได้โดยใช้กิ่งตอน หรือกิ่งปักชำที่ออกรากดี มีอายุประมาณ 45 วัน รองก้น
หลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 10-20 ก. โดยทั่วไปนิยมในช่วงฤดูฝน ปลูกเป็นแถว มี
ระยะระหว่างแถวและระหว่างต้น 50 ซม.

 ชะอมที่ปลูกมี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ใบเล็ก ต้นมีขนาดเล็ก มียอดสั้น และพันธุ์ใบใหญ่ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากเพราะให้ยอดยาวและสวย ต้นจะมีขนาดใหญ่กว่า กว่า การเก็บเกี่ยวยอดสามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปีถ้าสามารถให้น้ำและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543)การปลูกชะอมควรทำการตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้แตกยอดอ่อน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ตัดแต่งต้นให้เหลือความสูงประมาณ 30 ซม. จากระดับพื้นดินเพื่อให้แตกกิ่งใหม่ หรือตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มสูงประมาณ 150 ซม. เพื่อความสะดวกในการเก็บเกี่ยวจากผลการทดลองเกี่ยวกับการตัดแต่งต้นชะอมที่ระดับความสูงต่างๆ กัน คือ 50, 75, 100 และ 125 ซม. จากระดับพื้นดิน พบว่าความสูงที่เหมาะสมในการตัดแต่งต้นชะอมคือที่ความสูง 125 ซม. เพราะต้นชะอมให้ผลผลิตสูงที่สุดในแต่ละเดือนประมาณ 100 กก./ไร่ และสะดวกในการเก็บเกี่ยวการตัดแต่งให้ต้นมีความสูงมากขึ้นจากระดับพื้นดิน มีผลให้จำนวนกิ่งที่ตาข้างจะเจริญเติบโตมีมากขึ้นด้วย ขณะที่การตัดแต่งให้ต้นมีความสูงต่ำกว่า มีจำนวนกิ่งที่ตาข้างจะเจริญเติบโตน้อย ทำให้ผลผลิตที่ได้ลดลง

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

สามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่อชะอมอายุประมาณ 3เดือนหลังปลูก โดยเก็บเกี่ยวได้ทุกๆ 3 วัน ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตัดชะอมควรตัดในตอนเช้าตรู่ ควรใช้มีดหรือกรรไกรตัด เพื่อให้แผลที่ตัดไม่ช้ำ ในช่วงฤดูหนาวซึ่งมีการแตกยอดน้อยควรเหลือยอดชะอมไว้ 3 -4 ยอดในแต่ละต้น

การใช้ประโยชน์

สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการประกอบเป็นอาหาร คือ ยอดอ่อนและใบอ่อนชะอมนิยมนำมารับประทานเป็นผักจิ้ม และนำไปแกง เช่น แกงลาว แกงแค เป็นต้น ยอดชะอมจัดเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงยอดชะอม 100 กรัม ประกอบด้วย พลังงาน 57 กิโลแครอรี่ เส้นใย 5.7 ก. แคลเซียม 58 ก. ฟอสฟอรัส 80 มก.เหล็ก 4.1 มก. วิตามินเอ 10,066 IU วิตามินบีหนึ่ง 0.05มก. วิตามินบีสอง 0.24 มก. ไนอาซิน 1.5 มก. และวิตามินซี 58 มก. (สถาบันแพทย์แผนไทย, 2540) นอกจานนั้นชะอมยังมีประโยชน์ทางยาคือ รากของชะอมมีสรรพคุณแก้ท้องเฟ้อ ขับลมในลำไส้ และแก้ปวดเสียดในช่องท้องได้ดี



เอกสารอ้างอิง

กรมส่งเสริมการเกษตร. 2543. ผักพื้นบ้าน. กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร,
กรุงเทพฯ. 48 น.

สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2540. ผักพื้นบ้าน : ความหมาย
และภูมิปัญญาของสามัญชนไทย. โรงพิมพ์

องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, กรุงเทพฯ.261 น.สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวง
สาธารณสุข. 2542. ผักพื้นบ้านภาคกลาง.โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก,กรุงเทพฯ. 279 น.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Top